ประกาศสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ที่ 1/2564
แถลงการณ์ของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
เรื่อง “การใช้ยาโอปิออยด์ในวาระสุดท้ายของชีวิต (End of life)”
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ คำสั่งจดทะเบียนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคม ตามทะเบียนเลขที่ 9/2560 ตั้งแต่วันที่ 20 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 เรื่อง จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคม ตามความในหมวดที่ 1 ข้อ 4 (4.5) วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้กับประชาชน จากมติคณะกรรมการบริหารสมาคม บริบาลผู้ป่วยระยะท้าย มีความคิดเห็นและข้อแนะนำดังนี้
คุณสมบัติของยาโอปิออยด์
ยาโอปิออยด์ เช่น morphine, fentanyl มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญ คือ ลดอาการปวด จึงนำมาใช้เพื่อลดอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง โดยมีผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ท้องผูก ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน และที่พบไม่บ่อย เช่น อาการสับสน การใช้ยาในขนาดที่สูงเกินความเหมาะสม อาจทำให้อัตราหายใจช้าลง หรือในรายที่เกินขนาดมากอาจมีผลทำให้หยุดหายใจ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้โอปิออยด์ในวาระสุดท้ายของชีวิต
1. ผู้ป่วยระยะประคับประคอง (palliative care) ทุกคน ต้องสามารถเข้าถึงยาโอปิออยด์ที่จำเป็น เพื่อจัดการ อาการปวด และอาการอื่น ๆ เป็นการลดความทุกข์ทรมานและเพิ่มคุณภาพชีวิต
2. ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาโอปิออยด์ตามหลักฐานที่มีในปัจจุบันคือ
2.1 เพื่อลดความปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ชนิดความปวดซึ่งตอบสนองดีกับยาโอปิออยด์ คือ ความปวดจากเนื้อเยื่อถูกทาลาย (nociceptive pain) และความปวดจากอวัยวะภายใน (visceral pain) ในกรณีที่ความปวดเหตุจากพยาธิสภาพประสาท (neuropathic pain) ควรพิจารณาใช้ยาอื่นที่เหมาะสม เช่น ยากันชักบางประเภท กลุ่ม gabapentinoid หรือ ยาที่เพิ่มสารยับยั้งความปวด serotonin และ noradrenaline เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า ทั้งนี้เมื่อมีการใช้ยาหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ต้องคำนึงถึงเภสัชจลนศาสตร์ที่อาจเสริมหรือต้านฤทธิ์กัน โดยมุ่งเป้าเพียงให้ลดความปวด หรือการทรมานทางกายอื่นๆ และต้องคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนจากผลข้างเคียง
2.2 เพื่อลดอาการหอบเหนื่อย ควบคู่กับการรักษาเพื่อแก้ไขสาเหตุเฉพาะที่สามารถแก้ไขได้ เช่น ภาวะติดเชื้อ ภาวะหอบเหนื่อยจากหลอดลมตีบ ภาวะหลอดนำ้เหลืองอักเสบภายในปอด ภาวะลิ่มเลือดกระจายมาที่ปอด เป็นต้น ทั้งนี้การให้ยาโอปิออยด์เพื่อช่วยลดอาการหอบเหนื่อย ควรเริ่มให้ในขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้ในการลดความปวด เช่น ครึ่งหนึ่งของขนาดที่เริ่มให้เพื่อระงับปวด ยกเว้นกรณีผู้ป่วยได้รับยาโอปิออยด์เพื่อแก้ปวดมาก่อนอยู่แล้ว สามารถปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นเพื่อคุมอาการหอบเหนื่อย
3. ผู้ป่วยที่มีสภาวะร่างกายไม่แข็งแรง (frail) มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีความรู้สึกตัวผิดปกติ ต้องมีการปรับลดขนาดยา เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาโอปิออยด์
4. ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า การใช้ยาโอปิออยด์เพื่อบรรเทาอาการในระยะสุดท้ายด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าการดาเนินโรคตามปกติ
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาโอปิออยด์ในวาระสุดท้ายของชีวิต
1. ควรใช้ยาโอปิออยด์ตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เช่น เพื่อการลดปวดตามชนิดที่เหมาะสม หรืออาการหอบเหนื่อย และให้เริ่มขนาดที่เหมาะสม มีการติดตามการรักษา และปรับเพิ่มขนาดยาตามความรุนแรงของอาการ
2. สนับสนุนให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขได้รับการอบรมเพิ่มเติมจากสถาบันที่มีมาตรฐานในเรื่องการใช้ยาโอปิออยด์ในการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
(รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงศรีเวียง ไพโรจน์กุล)
นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย